- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ กลับมาเจอกันอีกครั้งในฟาร์มแครอทของเรา เป็นยังไงกันบ้างคะหลังจากที่ได้ทดลองเรียนออนไลน์กันไปอาทิตย์แรก ส่วนตัวแล้วเราคิดว่ามันดีมากตรงที่ประหยัดเวลา แต่มีข้อเสียตรงที่ เราคิดถึงเพื่อน ๆ มากเลย T T เหมือนพอเรียนที่บ้านก็ไม่ได้นั่งคุยนั่งกินข้าวกับใครเลยนอกจากแมวกับหมา เหงามาก ถถถถ
แต่ แต่ แต่ เหงายังไงงานก็ไม่ลดซะที เพราะงั้น เรามาพยายามไปด้วยกันนะคะ
.
.
.
สำหรับตัวเราเป็นบ่อยมาก เห็นได้ชัดตอนปี 2 คาบคอนเวอร์เซชันที่อาจารย์ให้ลองดีเบตกัน ตอนเพื่อนอีกฝ่ายพูดออกมา เราคิดคำค้านข้อเสนอได้เป็นฉาก ๆ แต่พอถึงเวลาพูดจริงกลับนึกภาษาญี่ปุ่นไม่ออก เลยต้องพูดแค่เท่าที่ภาษาเราจะเอื้ออำนวยเท่านั้น อะไรที่เราคิดไม่ได้เราก็ตัดออกหมด แม้มันจะเป็นประโยคสำคัญหรือประโยคเด็ดก็ตาม สุดท้ายสิ่งที่พูดก็กลายเป็นสิ่งที่ไร้ตรรกะไปเสียอย่างนั้น T T
วันนี้จึงจะมานำเสนอสิ่งที่เรียกว่า ギャップ (GAP) ให้ทุกคนได้รู้จักค่ะ
ギャップ (GAP)
คือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เราอยากจะทำให้ได้กับสิ่งที่เราทำได้ค่ะ ดังนั้น GAP ในการเรียนภาษาก็คือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ กับสิ่งที่เราสามารถสื่อออกไปได้ตามระดับความสามารถทางภาษาของเรานั่นเองค่ะ
ตามแนวคิด Output Hypothesis ของคุณ Merrill Swain ได้มีการเสนอไว้ว่า การที่เราจะพัฒนาภาษาของเราได้นั้น ไม่ใช่แค่ Input รับเอาข้อมูลเข้าไปเยอะ ๆอย่างเดียว แต่ต้องมีการใช้ออกมาอาจด้วยการพูดหรือการเขียน เพื่อที่จะได้เกิดการตระหนักรู้ถึงความแตกต่างหรือช่องว่างระหว่างสิ่งที่ทำได้กับสิ่งที่ควรทำได้(noticing-the-gap)ซึ่งจะนำไปสู่การตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เราทำไม่ได้(noticing-the-hole)และเกิดการตระหนักในรูปภาษาที่ถูกต้อง(noticing-the-form)นำไปสู่การพัฒนาภาษาในที่สุดค่ะ
.
.
.
สำหรับตัวอย่างครั้งนี้ เราจะดูภาพ 「それは秘密です」 แล้วแต่งเรื่องเป็นภาษาญี่ปุ่นจากภาพ เพื่อเปรียบเทียบในสิ่งที่เราต้องการจะพูด สิ่งที่เราพูดออกไป และตัวอย่างการเล่าเรื่องเดียวกันนี้ของคนญี่ปุ่นค่ะ
สิ่งที่ต้องการจะพูด
มีหญิงสาวคนหนึ่ง หน้าตาดีมาก และด้วยความสวยนั้นเองก็ทำให้เธอได้แฟนเป็นชายหนุ่มที่จิตใจงามและหน้าตาดี แต่อันที่จริงความสวยนั้นล้วนแล้วแต่ได้มาจากการทำศัลยกรรมทั้งสิ้น
เธอตั้งใจที่จะปกปิดความลับนั้นไว้ตลอดกาลเลยจะเอารูปภาพตัวเองในอดีตมาทำลายทิ้งให้หมด แต่ว่าวันนั้นจู่ ๆ แฟนก็มาที่บ้าน เลยลืมเรื่องรูปไปเสียสนิท มารู้ตัวอีกทีก็ตอนเห็นแฟนถือรูปที่เผลอวางทิ้งไว้บนโต๊ะนี่ล่ะ
เธอตกใจมาก คิดว่าคงถูกทิ้งแน่ ๆ ระหว่างที่กำลังกังวลใจอยู่นั้น แฟนหนุ่มรูปงามของเธอก็เอ่ยขึ้นมาว่า “อะไรกัน เรื่องแค่นี้ไม่เห็นต้องคิดมากเลย” คำพูดของแฟนสมแล้วที่เป็นแฟนหนุ่มผู้แสนดี เธอโล่งใจมาก แต่ตอนที่กำลังจะพูดขอบคุณนั้น แฟนของเธอก็เอามือจับไปที่ผมของตัวเองแล้ว ดึง ออกมา เผยให้เห็นหัวล้านโล่งเตียนเป็นประกายสะท้อนแสง จริง ๆ แล้วผมนั่นเป็นวิกต่างหาก
สิ่งที่พูดออกไป
あるきれいな女の人がきれさのおかげで、優しくて素敵な彼氏ができました。 しかし、実は彼女は整形美人です。 彼女はその秘密を永遠に秘密のままにしようと思うので、ある日、まだきれいではない時の写真を全部捨てようとします。 しかし、彼氏が突然家に来たので、写真のことを全部忘れてしまいました。ですから、机に置いていた写真が彼氏に見られてしまいました。 彼女はとてもびっくりして、振られてしまうかと心配しました。 しかし、彼氏がただ優しく「そんなこと気にしなくていいのに。。。」 と言いました。本当に優しい彼氏ですね。 彼女は本当にほっとしました。 そのとき、彼氏が自分の髪を取って出しました。 彼の頭はぜんぜん髪がありません。 実は髪ではない。 ウィックです。
ตัวอย่างคนญี่ปุ่น
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เราพูดออกมาต่างกันอยู่หลายจุดทีเดียว บางส่วนเราก็ตัดทิ้งไปเพราะนึกคำไม่ออก ทีนี้เราลองมาดูกันว่าส่วนที่เราพูดเปลี่ยนไปเพราะคิดไม่ออกนั้นคนญี่ปุ่นตามตัวอย่างที่อาจารย์ให้มาเค้าพูดกันว่ายังไง
สีม่วง = สิ่งที่ต้องการพูด สีเขียว = สิ่งที่พูดออกไป สีฟ้า = ตัวอย่างจากคนญี่ปุ่น
1.แต่อันที่จริงความสวยนั้นล้วนแล้วแต่ได้มาจากการทำศัลยกรรมทั้งสิ้น
しかし、実は彼女は整形美人です。
彼女、整形してすごい美人になったんだよね。
อันนี้เราเองก็อยากจะบอกว่า ทำศัลยกรรมเลยสวยขึ้นมา แต่ตอนนั้นเรานึกรูปประโยคนี้ไม่ออกเลยคงเอาไว้แบบที่มีในรูปการ์ตูนไป
2.แฟนของเธอก็เอามือจับไปที่ผมของตัวเองแล้ว ดึง ออกมา
彼氏が自分の髪を取って出しました。
彼、自分の髪の毛に手を持っていって、つるって、髪の毛を取ったのよ。
อันนี้ไม่รู้จะหาคำแยกระหว่างจับผมขึ้นมาเฉย ๆ กับจับดึงออกไปได้ยังไง สุดท้ายเลยตัดทิ้งเหลือแค่ 取って出しました
3.เผยให้เห็นหัวล้านโล่งเตียนเป็นประกายสะท้อนแสง
彼の頭はぜんぜん髪がありません。
彼の頭も、つるつるぴかぴかだったの。
ประโยคนี้อยากได้คำว่าหัวล้านโล่งเตียนกับเป็นประกายสะท้อนแสงมาก แต่ก็นึกคำไม่ออก คิดได้แค่ ぴかぴか แต่หาจุดที่จะใส่ลงไปไม่ได้ ส่วนตรง “เผยให้เห็น” ก็ไม่แน่ใจว่าใช้คำว่าอะไรดี ก็เลยออกมาแค่ หัวของเขาไม่มีผมเลย เฉยๆ
4.จริง ๆ แล้วผมนั่นเป็นวิกต่างหาก
実は髪ではない。ウィックです。
つまり、彼氏、カツラだったっていうこと。
ประโยคนี้นะ จำได้ว่าเค้าไม่ใช้คำว่าวิกกันอ่ะ มีคำอื่นอยู่ แต่เรานึกยังไง๊ยังไงก็นึกไม่ออกก็เลยออกมาเป็น ウィック แทน พอมาดูถึงบางอ้อเลย ใช่แล้ว カツラ นั่นเอง
.
.
.
1.เราใช้คำว่า 髪 คนญี่ปุ่นใช้คำว่า 髪の毛
แม้ว่าในภาษาไทยจะมีทั้งคำว่า ผม (髪)และ เส้นผม(髪の毛)แต่น้อยครั้งมากที่เราจะเจาะจงใช้คำว่าเส้นผม เพราะโดยส่วนมากถ้าพูดว่าผมก็เห็นภาพแล้วโดยอาจจะเป็นเส้นเดียว หรือ ทั้งหัวก็ได้ พอมาเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นเราเลยใช้คำว่า 髪 เฉย ๆ
ส่วนคนญี่ปุ่นทั้งสองตัวอย่างที่อาจารย์ให้มาใช้คำว่า 髪の毛 ทั้งคู่ เลยคิดว่าสำหรับคนญี่ปุ่น 髪 อาจให้ภาพผมทุกเส้นบนหัว แล้ว 髪の毛 หมายถึงผมเส้นเดียวหรือกลุ่มผมกระจุกหนึ่งหรือเปล่า จึงใช้แบบนี้
2.เราเล่าแบบบรรยายภาพ คนญี่ปุ่นเล่าเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่ตนพบเจอจริง ๆ
จะเห็นว่าในขณะที่เราเล่าเหมือนเรามองลงไปยังภาพ บรรยายภาพทั่วไป แต่คนญี่ปุ่นทั้งสองคนมีการเล่าโดยยกว่าเป็นเรื่องของคนใกล้ตัวบ้าง คนรู้จักบ้าง ให้อารมณ์เหมือนเม้าท์เรื่องของสาวนางนี้ให้เพื่อนฟังมากกว่า
จึงมีการเติมแต่งบางส่วนที่ทำให้รู้สึกเหมือนผู้เล่าได้ประสบพบเห็นเหตุการณ์นั้นด้วยตนเองจริง ๆ เช่น การเติมเรื่องราวหลังจากนั้นลงไป หรือเล่าว่าปัจจุบันทั้งสองเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงมีการเติม よ/ね/の ลงไปด้วย
3.เราใช้รูปสุภาพ คนญี่ปุ่นใช้รูปธรรมดา
การที่ใช้รูปลงท้ายที่ต่างกันเช่นนี้ เราคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรูปแบบการเล่าที่แตกต่างกันตามที่พูดไปในข้อสาม
ในขณะที่เราเล่าแบบเล่าเรื่องจากภาพเฉย รวมกับการเรียนที่ผ่าน ๆ มา ทำให้เรารู้สึกว่าตรงนี้ควรจะใช้เป็นรูปสุภาพ คำลงท้ายเลยเป็น です/ ます
ส่วนคนญี่ปุ่นมีการเล่าที่เหมือนเม้าท์ให้เพื่อนฟังจึงไม่ได้ใส่ です/ます แต่เป็นรูปธรรมดาเหมือนเวลาคุยกันทั่วไปแทน
4.เราเล่าสัดส่วนของทุกตอนเท่ากัน คนญี่ปุ่นเน้นจุดไคลแม็กซ์
ในส่วนที่เราเล่าเรื่องเป็นภาษาญี่ปุ่น เราจะเล่าแบบเรียงลำดับไปเรื่อย ๆ ไม่มีการเว้นหรือตัดประโยคให้ดูน่าสนใจ
ส่วนคนญี่ปุ่นจะมีการเล่าเรื่องทีละขั้นตอน และมีการตัดประโยค เติมคำบ้างเพื่อไม่ให้จุดหักมุมของเรื่องออกมาทันที จะเห็นได้จากประโยคของคุณญี่ปุ่นคนที่ 1
『 それで、次、彼、何したと思う?彼、 自分の髪の毛に手を持っていって、つるって、髪の毛を取ったのよ。そしたら、彼の頭も、つるつるぴかぴかだった の。で、「僕もこんなだし」って彼女に見せたのよ。そしたら、彼の頭も、つるつるぴかぴかだったの』
และประโยคของคุณคนที่ 2
『「なんでだろう」と思ったら、その彼氏、おもむろに頭に手をやってさ、なんと、髪の毛をとっちゃったん だよ。つまり、彼氏、カツラだったっていうこと』
หลังการทำแบบฝึกหัดอันนี้เราก็พบว่าส่วนสำคัญที่จะทำให้เราสามารถใช้ภาษาสื่อสารออกมาแล้วอีกฝ่ายเข้าใจนั้น พื้นฐานขั้นต้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่เมื่อเราเรียนขั้นต้นมาแล้วสิ่งสำคัญหลังจากนี้ก็คือ คำศัพท์ ค่ะ เราไม่เพียงแต่ต้องรู้คำศัพท์ที่หลากหลายเท่านั้น แต่เราต้องรู้ด้วยว่าแต่ละคำมีความแตกต่างกันอย่างไร และบริบทไหนจึงจะใช้คำนั้นได้
และที่สำคัญการที่เราจะสามารถพูดให้ได้เป็นธรรมชาติอย่างเจ้าของภาษา เราก็ควรที่จะ Input ข้อมูลจากเจ้าของภาษาเข้าไปมาก ๆ และทำการ Output ออกมาเพื่อจะได้สังเกตดู ギャップ ของตนตามที่คุณ Swain บอกเอาไว้ด้วยค่ะ
สำหรับที่ได้มีการคุยกันไปในคาบเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า Input กับ Output ควรมีสัดส่วนเท่าไหร่ ส่วนตัวเราแล้วมองว่าควรจะเป็น Input 8 : Output 2 ค่ะ
เราคิดว่า Input ควรมีน้ำหนักมากกว่า เพราะการที่ได้รู้มากก็จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมได้สะดวกมากขึ้นนั่นเองค่ะ
.
.
.
สำหรับวันนี้ก็ขอลากันไปเท่านี้ ไว้เจอกันใหม่บล็อกหน้านะคะ...ไม่จริงค่ะ เราต้องทำตามธรรมเนียม ขายของนั่นเองค่าาา แต่ในบล็อกนี้ขอขายกรุบกริบเล็กน้อย เนื่องจาก SEVENTEEN กำลังจะออกเพลงญี่ปุ่นเพลงใหม่ในวันที่ 1 เมษายนนี้ค่ะ เมษานี้มาแน่ไม่มีหลอกค่ะ วันนี้เลยจะขอฝากทีเซอร์เอาไว้เล็ก ๆ น้อย ๆ นะคะ รอที่จะ Input ภาษาญี่ปุ่นเข้าไปไม่ไหวแล้ววว Y Y
Falling Flower
รักษาสุขภาพด้วยนะคะทุกคน 💛
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
ความคิดเห็น
input 8 : output 2 (なるほど!)วิเคราะห์ได้ดีมากค่ะ จริงๆเล่าเรื่องก็ใช้รูป です・ます ได้นะคะ ไม่ผิดนะคะ (ถ้าคนฟังไม่ได้สนิท) พอดีตัวอย่างที่ให้เขาเล่าให้เพื่อนสนิทฟังเลยใช้รูปธรรมดาค่ะ
ตอบลบวิเคราะห์ละเอียดมากแม่ บางจุดไม่ได้สังเกตเลย รอเพลงเซ้บออกอย่างใจจดใจจ่อ เจอกันโคละโบะ!!
ตอบลบวิเคราะห์การเล่าเรื่องได้ละเอียดดีมากเลยค่ะ คุณแครอต พอแจกแจงออกมาเป็นข้อๆแล้วเห็นภาพมากขึ้นเลยค่ะ
ตอบลบวิเคราะห์ได้ละเอียดมากๆเลยยย เราชอบตรงที่วิเคราะห์เทียบของเรากับของคนญี่ปุ่นไปทีละประโยคนะ ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นเยอะเลย
ตอบลบโห เอามาเทียบกันแบบฉากต่อฉากทำให้เห็นภาพชัดเจนเลยค่ะ นอกเรื่องนิดนะคะชอบลีลาการเล่าเรื่องเป็นภาษาไทยในตอนแรกมากค่ะ 555555555 จะว่าไปก็จริงด้วยนะคะ ของเราเองก็เล่าเนื้อหาสี่ช่องแบบเฉลี่ย ๆ กันไปเท่า ๆ กัน อาจจะเพราะพอมันแยกมาให้เราก็เออออไปตามนั้นเลย
ตอบลบเปรียบเทียบแบบชัดมากครับ ชอบตรงที่บอกเลยว่า เราทำแบบไหน คนญี่ปุ่นทำแบบไหน ทำให้เห็นว่าความแตกต่างหรือ GAP คืออะไรและจะเรียนรู้จน noticing ได้
ตอบลบ