CARROT FARM

สายรุ้งเจ็ดสีมณีเจ็ดแสง


         ยินดีต้อนรับกลับเข้าสู่ฟาร์มแครอทแห่งนี้กันอีกครั้งค่ะะะ คิดถึงทุกคนมากเลย แค่เจอกันในกูเกิ้ลมีทไม่เพียงพอเลยสำหรับเรา หวังว่าเราจะได้มาเจอกันเร็ว ๆ นะคะ😗


       สำหรับเนื้อหาของบล็อกในวันนี้นั้นเป็นเรื่องที่เรานึกถึงขึ้นมาหลังจากได้เรียนเรื่อง การรับรู้ ของภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นที่แตกต่างกกัน ที่ว่าถ้าพูดประโยคเดียวกัน แต่พอให้วาดภาพให้ดูดันได้ภาพคนละแบบกันน่ะค่ะ ในตัวอย่างที่อาจารย์ยกมาให้ดูจากงานวิจัยเรื่อง 認知言語学と英語教育 (ภาษาศาสตร์ปริชานกับการศึกษาภาษาอังกฤษ)ของคุณ 佐々木昌太郎(ささき しょうたろう) คือ




「国境の長いトンネルを抜けると雪国であった。」

“ The train came out of the tunnel into the snow country ”


       โดยที่ภาษาอังกฤษแปลมาจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น ดังนั้นความหมายของทั้งสองประโยคก็ต้องเหมือนกัน และหากลองให้วาดภาพ ก็คงจะเป็นภาพเดียวกันใช่ไหมคะ แต่กลับกลายเป็นว่าผู้อ่านชาวญี่ปุ่นกับผู้อ่านชาวอังกฤษกลับมีการจินตนาการประโยคดังกล่าวที่แตกต่างกันออกไป ดังภาพข้างล่างเลยค่ะ




       ภาพด้านบนแสดงให้เห็นว่า ผู้อ่านชาวญี่ปุ่น(図1) มีการจินตนาการภาพโดยเป็นเหตุการณ์จากมุมมองของตนเอง ดังนั้นภาพที่ออกมาจึงเป็นเหมือนตัวเองนั่งอยู่บนรถไฟแล้วภาพเมืองหิมะข้างหน้าค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นเพราะกำลังจะออกจากอุโมงค์
       จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาษาญี่ปุ่นให้การรับรู้หรือปริชานแบบอัตวิสัย 主観的把握型言語 しゅかんてきはあくがたげんご)คือ การรับรู้ผ่านตัวเองออกไป


       ในขณะที่ ผู้อ่านชาวอังกฤษ(図2) จินตนาการภาพเสมือนตนเองยืนอยู่ข้างทางรถไฟแล้วมองเห็นขบวนรถไฟที่ส่วนหัวได้ลอดพ้นออกมาจากอุโมงค์แล้วและเข้าสู่เมืองที่เป็นหิมะแล้ว
       จึงอาจกล่าวได้ว่าภาษาอังกฤษให้การรับรู้แบบภววิสัย 客観的把握型言語 きゃっかんてきはあくがたげんご) คือ การรับรู้ในมุมมองของบุคคลที่ 3
.
.
.

       จากการเรียนตรงนี้ ทำให้เราคิดว่าการที่ประโยคเดียวกัน ดูเผิน ๆ ก็มีความหมายที่เหมือนกัน แต่เพราะภาษาต่างกันกลับทำให้ภาพออกมาต่างกันได้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากค่ะ เลยนึกย้อนไปถึงเรื่องที่เคยอ่านมาโดยไม่ได้ตั้งใจ น่าจะตอนปี 1 ค่ะ  ก็คือเป็นเรื่องของ  “สายรุ้ง”  ค่ะ


       ถ้าพูดว่าสายรุ้งปุ๊ป เชื่อว่าเพื่อน ๆ ทุกคนจะต้องนึกถึง ปรากฏการณ์แถบ 7 สี โค้ง ๆ ที่พาดผ่านท้องฟ้าหลังฝนตกใหม่ ๆ ใช่ไหมละคะ แต่คำว่า สายรุ้ง หรือรุ้งกินน้ำ ในบางประเทศ แม้ว่าจะหมายถึงแถบสีโค้ง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังฝนหยุดตกเหมือนกัน แต่สายรุ้งของเขาอาจมีแค่ 3 สีหรือแค่ 2 สี ไม่ได้มี 7 สีเท่ากันกับเราค่ะ!! อมก

       ก่อนอื่นเรามาพูดถึงสาเหตุที่สายรุ้งมี 7 สีก่อนค่ะ ผู้ที่กำหนดให้สายรุ้งมี 7 สีคือคุณ ไอแซค นิวตัน ชาวอังกฤษค่ะ อันที่จริงก่อนหน้าที่คุณนิวตันจะถือกำเนิดขึ้นมา rainbow ของชาวอังกฤษนั้นมีเพียง 6 สีเท่านั้น แต่เพราะว่าในสมัยของคุณนิวตัน ดนตรีได้เข้ามามีบทบาทมากในสังคม ทำให้แม้กระทั่งการกำหนดสีสายรุ้งก็ยังเป็นไปตาม ตัวโน๊ต โด เร มี ฟา ซอล ลา ที ทั้ง 7 ตัวเลยค่ะ ด้วยเหตุนี้ทำให้ตั้งแต่นั้นมาเมื่อพูดถึงสายรุ้ง ก็จะมี 7 สีค่ะ

       แต่แหม บางทีสายรุ้งก็จางและสีกลืนกันมาก อย่างสีม่วง สีคราม และสีน้ำเงิน ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศ มีสีรุ้งแค่ 5 หรือ 6 เท่านั้น การอธิบายข้อนี้อาจจะพอเข้าใจได้ อ้าว แล้วบางประเทศที่มีสายรุ้งแค่ 3 หรือ  2 สีละคะเป็นเพราะอะไร


      อย่าเพิ่งตกตระหนื่นไปค่ะ!! สาเหตุที่เป็นเช่นนี้นั้นไม่ใช่เพราะภูมิประเทศที่ต่างกัน หรือว่าเพราะที่ตั้งบนเส้นละติจูดลองจิจูดที่ต่างกันแต่อย่างใด บล็อกเราไม่พูดถึงภูมิศาสตร์แน่นอน เราสัญญา แต่สาเหตุที่สายรุ้งของบางประเทศไม่ได้มี 7 สี เป็นเพราะ  “ภาษา” ที่แตกต่างกันค่ะ

       ยกตัวอย่างประเทศที่สายรุ้งมีแค่ 3 สีอย่างไต้หวันหรือบางประเทศในแอฟริกา หรือพื้นที่ที่มีสายรุ้งแค่ 2 สีอย่างไซบีเรีย เป็นต้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นไม่ได้มีสายตาที่แตกต่างไปจากชาติอื่นแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะในภาษาของเขาไม่ได้มีคำที่จำแนกสีไว้มากเหมือนกันกับเรา หลายสีอาจถูกนับรวมกันเป็นสีเดียว หรืออาจจะแค่เป็นการจำแนกเป็นกลุ่มสีสว่าง กับสีมืด เท่านั้น ทำให้สายรุ้งของบางประเทศมีเพียงแค่ 2 หรือ 3 สีเท่านั้นค่ะ

       หากพูดให้เห็นภาพชัดเจนก็คือ สีที่เรามองว่า เป็น สีแดง กับ สีเหลือง ถึงแม้ว่าคนในประเทศนั้นจะมองเห็นและรับรู้ว่าสีมันต่างกัน แต่ด้วยเพราะไม่มีคำเฉพาะของแต่ละสีที่ชัดเจน จึงอาจเรียกรวมทั้งสองสีนั้นว่าเหลือง หรือแดง เป็นสีเดียวกันไปนั่นเองค่ะ

       ตัวอย่างเช่นในภาษาอังกฤษที่คำว่า Blue  แม้จะให้ความรู้สึกเป็นสีน้ำเงินเสียมากกว่า แต่ก็มีความหมายได้ทั้ง สีน้ำเงิน หรือ สีฟ้า โดยหากจะการเจาะจงสีฟ้าลงไปให้ชัดเจน ก็ต้องมีการกำหนดเติมคำลงไปว่า Light blue  การเติม  Light ลงไปเพื่อให้ได้ความหมายที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นสีฟ้าค่ะ ดังภาพที่เราไปเสิร์ชจากกูเกิ้ลด้านล่างนี้เลย




        การที่เราระบุลงไปแบบนี้ว่าเป็น Light blue คำว่า Light ที่เติมไปจะเรียกได้ว่าเป็น markness 「有標 ゆうひょう」 ซึ่งก็คือคำที่จะทำให้ความหมายของคำนั้นชัดเจนค่ะ หากพูดว่า blue เฉย ๆ แล้วเรานึกถึงสีน้ำเงินจะเรียกว่า unmarkness「無標 むひょう」ความหมายที่เรารับรู้โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ได้มีอะไรมาระบุลงไปนั่นเองค่ะ


       จะเห็นได้ว่าแม้ความหมายหรือคอนเซปต์ของคำจะเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วด้วยวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ และภาษาที่แตกต่างกันออกไป การรับรู้ถึงคำคำนั้นจึงต่างกันออกไปด้วย โดยดูตัวอย่างได้จากการที่ “ rainbow, 虹, สายรุ้ง ”  ของแต่และประเทศแต่และพื้นที่แต่ละภาษามีสีไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้าให้แต่ละชาติแต่ละภาษามาวาดรูประบายสีสายรุ้งก็อาจจะได้สายรุ้งที่อาจมีสีไม่เท่ากัน หรือมีการเรียงสีที่แตกต่างกันได้ค่ะ

       ถ้ามีเพื่อนชาวต่างชาติของเราบอกว่าสายรุ้งไม่ได้มี 7 แต่มี 3 หรือ 4  ก็ให้เข้าใจว่าบางทีในภาษาเขาอาจจะไม่มีคำเรียกสีเหมือนเรา อย่าเพิ่งหัวร้อนไปเถียงกับเขานะคะ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ พูดอธิบายกันไปนะคะ


      วันนี้ก็ขอจบบล็อกไปเท่านี้ก่อนค่ะ ไม่ขายอะไรในครั้งนี้ แต่อยากให้ทุกคนติดตามนะคะ เราจะมีเซอร์ไพรส์ในครั้งหน้าค่ะ นั่นก็คือ คือ คือ คือ............ คือบอกไม่ได้นะคะ เพราะบอกไปก็จะไม่เป็นการเซอร์ไพรส์ 55555555

   รักษาสุขภาพด้วยนะคะ   Love 💛💮




ที่มา: 虹が7色じゃなくって、3色に見える国もあるってホント?
 https://mikata.shingaku.mynavi.jp/article/5539/  สืบค้นวันที่ 3/25/2020

ความคิดเห็น

  1. คุ้นว่าเคยอ่านบทความคล้ายๆอย่างนี้เหมือนกันเลยค่ะ น่าจะในข้อสอบ 55555555 แต่ชอบเรื่องนี้มากเลยค่ะ ทำให้นึกถึงตอนเรียนแจปรี้ดกับอาจารย์มัทนาด้วย ที่ว่าคนเราอาจจะรู้สึกไม่เหมือนกัน แต่ใช้คำๆเดียวกันในการอธิบาย อันนี้ก็เป็นแบบการรับรู้สิ่งๆหนึ่งต่างกัน ทำให้เกิดภาษาที่ใช้อธิบายสิ่งนั้นต่างกัน ทั้งๆที่เป็นสิ่งๆเดียวกัน!

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ใช่ค่ะเจอมาในข้อสอบ 555555 คำๆเดียวไม่สามารถสื่อที่เราคิดออกมาได้ทั้งหมดจริงๆค่ะ เราว่าดูเป็นเสน่ห์ของการเรียนภาษาด้วย ขนาดภาษาเดียวกันคนชาติเดียวกันยังตีความรับรู้ได้ต่างกันเลย ถ้าต่างชาติต่างภาษามาน่าจะนั่งอธิบายกันสนุกทีเดียว 555555

      ลบ
  2. โอ้ น่าสนใจมาก เพิ่งรู้ว่าเอาตัวโน้ตดนตรีมาใช้เลยทำให้สายรุ้งมี 7 สี สุดยอดดด

    ตอบลบ
  3. เห็นสีรุ้งต่างกันตามภาษา ตรงกับที่เราคุยกันในห้องเลยนะคะ เรื่องทฤษฎี Sapir-Whorf (ภาษากำหนดความคิดมนุษย์) แถมมีเรื่อง 有標 มาอธิบายด้วย สนุกมากค่ะ

    ตอบลบ
  4. งุ้ย ชอบมากเลยค่าา ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าสายรุ้งในแต่ละภาษาก็เรียงสีต่างกันด้วย เริ่ดมากเลยย

    ตอบลบ
  5. โอ้โห เรื่องสายรุ้งเจ็ดสีมาจากตัวโน๊ตนี่ความรู้ใหม่เลยค่ะ สายรุ้งของเราไม่เท่ากันจิง ๆ ด้วย เรื่องที่ว่าบางประเทศไม่มีคำแยกสีชัดเจนแล้วจับมารวบกันนี่นึกถึง 青 ของญี่ปุ่นเลยค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น